12 เมษายน 2552

ก้าวพ้นสี ชี้ที่ประโยชน์สูงสุดของประชาชน !

ก้าวพ้นสี ชี้ที่ประโยชน์สูงสุดของประชาชน

สถานการณ์ในวันเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพลังทางการเมืองสองฝ่ายในนิยามเรียกขานว่า กลุ่มทุนนิยมผูกขาด ที่มีระบอบทักษิณ และทักษิณ เป็นสัญลักษณ์ กับ กลุ่มทุนขุนนาง ที่มีระบอบ อมาตยาธิปไตย และ องคมนตรีรวมถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์

ถือเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ คือ กลุ่มทุนสองกลุ่มที่ต่างแสวงประโยชน์จากการดูดซับทรัพยากรของส่วนรวมด้วยกันทั้งสิ้น มิได้มีสถานะของการต่อสู้ทางชนชั้น หรือ การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ ทั้งสิ้น

สงครามระหว่างสีที่อาจเกิดขึ้น หรือ แม้อาจมีหนทางในการเจรจาต่อรองสมยอมและจัดสรรผลประโยชน์ของทั้งสองกลุ่มฝ่ายก็ตาม จึงมิได้ดำเนินไปบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติแต่อย่างใด

กล่าวสำหรับขบวนการต่อสู้ของประชาชนแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจึงมิใช่ สงครามของประชาชน !

จึงมิใช่ภารกิจในการที่ขบวนการต่อสู้ของประชาชนจำต้องอุทิศตนเข้าร่วมการต่อสู้อย่างทุ่มเทสุดจิตสุดใจไม่ว่ากับฝ่ายใด สีใด ก็ตาม ต่างจากสถานการณ์การต่อสู้ของประชาชนที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญร่วมกันในการต่อสู้กับการคอรัปฯ หรือความฉ้อฉล อำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดในระบอบทักษิณ เป็นด้านหลัก และ เป้าหมายอื่นเป็นด้านรอง

มีเพียงใช้เงื่อนไขความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนและยกระดับพัฒนาความเข้มข้นรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าว มาเพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเข้าถึงแก่นแท้แห่งข้อเท็จจริงเพื่อการรู้เท่าทัน มีสติ อันเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินบทบาทกำกับ ตรวจสอบ เฝ้าระวังในทางสังคม ในฐานะขบวนการการเมืองภาคประชาชน ในระยะต่อไป

นี่คือข้อเสนอถึงท่าทีทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชน ในประการที่ หนึ่ง

.........................................

ข้อเสนอถึงท่าทีทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชน ในประการที่ ๒

หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนผูกขาด กับ กลุ่มทุนขุนนาง มีแนวทางการพัฒนาสู่การปะทะกันด้วยความรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบการสร้างสถานการณ์ ก่อจลาจล หรือ การกล่าวอ้างถึงวาทกรรมอันเข้มขลังของ “สงครามประชาชน” หรือ ในรูปแบบการใช้อำนาจรัฐเข้าปราบปราม ทำร้าย ฝ่ายตรงข้าม หรือ การพัฒนาสู่ขั้นของการใช้อำนาจรัฐ กระทำการรัฐประหาร

ขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน มีท่าทีทางการเมืองในกรณีดังกล่าว อย่างไร ?

หนึ่ง ; เห็นว่าต้องพิจารณาแยกแยะตัวตนของกลุ่มแกนนำของทั้งสองส่วน กับ มวลชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการต่อสู้ในฐานะกองหนุน หรือ มวลชนสนับสนุนของทั้งสองฝ่าย

สอง ; เห็นควรต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจน ในการคัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยทุกฝ่ายที่สนองประโยชน์เฉพาะกลุ่มพวกตน ไม่ว่าการก่อเหตุจลาจล ก่อวินาศกรรม หรือการใช้กำลังทหาร ตำรวจ ปราบปราม เข่นฆ่า ทำร้ายประชาชนไม่ว่ากลุ่มฝ่ายใด

สาม ; กรณีที่มีการใช้กำลังกองทัพ ฉวยโอกาสทำการรัฐประหาร อันเป็นรูปแบบการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ล้าหลังและขาดความชอบธรรม เราเห็นควรต้องคัดค้าน ต่อต้าน และต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าว

..............................

ข้อเสนอถึงท่าทีทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชน ในประการที่ ๓

ควรใช้เงื่อนไขและโอกาสในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ สร้างความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ก้าวข้ามพ้นสีสัญลักษณ์ใดๆ ที่ไม่สะท้อนจุดยืนทางการเมืองและผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ใช้เป็นเงื่อนไขในการเชื่อมโยงถักทอกันเป็นเครือข่าย เป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชนที่สดใหม่ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง บนพื้นฐานของความเห็นพ้องทางการเมืองร่วมกัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป .

จึงเป็นการเปิดประเด็น เพื่อการสังสรรค์เสวนา ร่วมกันต่อไป.